มีความตั้งใจอยากจะเขียนบล็อก แต่เริ่มไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มเขียนเริ่มเล่ายังไงดี.. คิดได้ก็แต่ชื่อเรื่องที่อยากจะเขียน คือ อิคิไก (Ikigai) อิทธิบาท 4 แล้วก็ กฎ 20 ไมล์ คือ ด้วยความบังเอิญ.. พอดีมีเวลาได้อ่าน 3 เรื่องนี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน (คิดว่า) เหมือนมีอะไรที่สอดคล้องกัน ซึ่งอธิบายได้ยาก (แต่อยากเขียน) จะพยายามเขียนบ่น ๆ แบบรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างเหมือนเคย ตอนที่ได้อ่าน 3 เรื่องนี้จบแล้ว รู้สึกว่าเหมือนรู้เรื่องเองเออเอง ว่าจะนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ยังไงบ้างไรงี้.. โดยประมาณนั้น แต่ถ่ายทอดออกมาไม่ได้แบบมันไม่สุด พออ่านจบ นั่งสมาธิ คิดทบทวน เรียบเรียงทำความเข้าใจในหัวใหม่ มันทำให้แนวความคิดของชีวิตและการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป น่าจะไม่มากก็น้อยในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เท่าที่รู้สึกได้จากการลองทำดู! ดีขึ้นหรือป่าวไม่รู้ รู้แต่ว่า เออ… ตื่นมารับแสงอรุณยามเช้าแล้วยิ้มได้แบบมีความสุข(ว่ะ)
อิคิไก (Ikigai) ความหมายของการมีชีวิตอยู่
ก่อนหน้านี้ ไม่เคยได้ยินหรือรู้จักเจ้าคำนี้เลย “อิคิไก” อย่างที่บอกไว้ว่าด้วยความบังเอิญ.. คือได้ไปเดินเล่นงาน ๆ หนึ่งเป็นงานเกี่ยวกับ Digital Marketing แล้วเห็นป้ายเขาเขียนว่า (อะไร? จำไม่ได้ แต่ประมาณว่า) คุณทำธุรกิจที่ใช่เหมาะกับคุณและมีความสุขด้วย? เราจะบอกความลับของ อิคิไก และ Neuro-Linguistic Programming (NLP) ให้กับคุณ เอิ่ม.. ในใจคือ NLP เนี้ยรู้จักเคยอ่านหนังสือมาหลายเล่ม ว่าแต่ อิคิไก เนี๊ยคือไรหว่า?
เข้าร้านหนังสือหามาอ่านซะเลย! เนื้อหาในหนังสือก็จะเขียนวนไปวนมาเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ชีวิตของคนนั้นคนนี้เป็นเคสไป คือ งง อ่านไม่รู้เรื่อง สุดท้ายสรุปเองได้ความว่า “อิคิไก คือ ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ.. แค่อยากตื่นมาทำสิ่งที่เอ็งอยากทำซะ แค่นี้แมร่งก็สุขแล้วในทุก ๆ วัน” ประมาณนั้นเลย (หนังสือเล่มเล็กนิดเดียว ราคา 299 บาท) แต่เขียนมีหลักการฟังหรู ๆ อยู่ 5 ข้อ ประมาณนี้
อิคิไก มีหลักใหญ่อยู่ 5 ประการ คือ
- การเริ่มต้นเล็ก ๆ คือ อยากทำอะไรก็เริ่มทำจากเล็ก ๆ ไม่ต้องคิดใหญ่โตเกินตัว เอาที่ไหวและใจรัก วันหนึ่งมันจะเติบใหญ่เอง
- การปลดปล่อยตัวเอง ประมาณว่า ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องแข่งกับใคร คือ จดจ่อทำ ๆ ไป แล้วเดี๋ยวมันจะเข้าสู่ “สภาวะลื่นไหล” คือ มีสมาธินั่นแหล่ะ (ชาวพุทธ อาจจะเข้าใจง่ายเรื่องนี้ หากนั่งสมาธิเป็นประจำ) เป็นนิพพาน นำไปสู่ความสุข อยากทำอีกเรื่อย ๆ
- ความสอดคล้องและยั่งยืน ประมาณว่า สิ่งที่ทำมันถูกจริตกับเราและเราอยู่กับสิ่งนั้นไปได้นาน ๆ ไม่เบื่อ ไม่เซ็ง ไม่หน่าย ประมาณนั้น
- ความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ อันนี้ออกแนวแบบคิดบวก โลกสวย ยกตัวอย่างว่า นั่งมองดอกไม้ดอกหญ้า แล้วแมร่งยิ้มออก มีความสุขได้ หรือ นั่งจิบชา กาแฟ ก็รู้สึกชื่นชม ชื่นชอบ ผ่อนคลาย ประมาณนั้นเลย คือ ไม่ได้ “บ้า” นะ แต่แมร่งกูมีความสุขไง ทุกคนคงเคยมีโมเมนต์นี้ บางทีผมก็เป็น แต่คือทำให้ได้ทุกวันไง โลกสวยทุกวัน คิดบวก ๆ
- การอยู่ตรงนี้ ตอนนี้ ในทางพุทธก็คือ อยู่กะปัจจุบัน นั่นแหล่ะ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น มีความสุขมากขึ้นกับสิ่งที่เป็น สิ่งที่ทำ สิ่งที่คิด.. (กาย วาจา ใจ)
ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ไปเจอกราฟวงกลมที่ฝรั่งทำไว้ อืม.. เก่งนะ วิเคราะห์แยกลักษณะออกมาได้ขนาดนี้เลย คือ งง ฮ่าฮ่า เพราะหนังสือก็แค่เล่าเรื่องโน้นนี่เท่านั้น แต่สามารถทำเป็นกราฟลักษณะรวม ๆ ได้ คือ เอาแต่ละเรื่อง แต่ละเหตุการณ์ของแต่ละบุคคลมาแยกย่อยแล้วรวมกัน ประมาณนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว ทุกคนในหนังสือที่ยกตัวอย่าง ก็ไม่ได้สอดคล้องหรือมีองค์ประกอบทุกข้อตามกราฟนั้นเลย นับถือคนวิเคราะห์และเขียนกราฟนี้(มากกว่า)จริง ๆ เอาว่าหนังสือเขาเน้นหลัก 5 ประการนั่นแหล่ะ
อิทธิบาท 4 – บาทฐานแห่งความสำเร็จ
เป็นที่ทราบกันดี สำหรับชาวพุทธว่า อิทธิบาทนั้น มี 4 ข้อ ดังนี้ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ซึ่งหากมี อิทธิบาท ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จสิ่งนั้นได้โดยง่าย และ มีความสุข
- ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น (มีความอยากทำ ชอบสิ่งนั้น ใฝ่เรียนรู้ศึกษาด้วยความชอบ)
- วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น (มุ่งมั่น บากบั่น อดทน ใฝ่เรียนรู้ศึกษาด้วยความพยายาม)
- จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น (จดจ่อ สมาธิ สติ)
- วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น (วิเคราะห์ ปรับปรุง พัฒนาทางปัญญา แก้ปัญหา)
อ่านหนังสืออิคิไกแล้ว ก็เห็นว่าสอดคล้องกับ อิทธิบาท 4 ที่พระพุทธองค์ได้บัญญัติไว้ สั้น ๆ แต่ได้ใจความมหาศาล และชัดเจนกว่าหลักอิคิไก
กฎ 20 ไมล์ – ความสม่ำเสมอที่นำพามาซึ่งความสำเร็จ
เป็นเรื่องราวของคนสองคน คือ Scott เป็นคนอังกฤษ กับ Amundsen เป็นคนนอร์เวย์ พวกเขามีความปรารถนาเดียวกัน คือ ต้องการเดินทางพิชิตผจญภัยไปขั้วโลกใต้ ทั้งสองคนอายุพอกัน ประสบการณ์พอกัน ออกเดินทางในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่การวางแผนสำหรับการเดินทางนั้น แตกต่างกัน โดย Amundsen นั้น วางแผนการเดินทางไว้ว่า ไม่ว่าอากาศจะดีมากแค่ไหนหรือเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม เขาจะเดินทางแค่วันละ 20 ไมล์ ส่วน Scott นั้น เดินทางเรื่อย ๆ หากวันใดอากาศเลวร้ายมาก เขาและคณะจะไม่ออกเดินทางเลย และถ้าวันไหนที่อากาศดี เขาจะเดินทางให้ได้มากที่สุดเพื่อชดเชยวันที่หยุดพักไม่ได้เดินทาง (อารมณ์เหมือนพวกที่ชอบพูดว่า “เออ อยากทำเดี๋ยวทำเอง กูรู้ว่ากูทำอะไรอยู่ ประมาณนั้นเลย คือ อยากทำเมื่ออยากทำ!”) จนส่งผลให้คณะเดินทางเกิดอาการเหนื่อยล้ามากและท้อ
ในวันที่ 14 ธันวาคม 1911 คณะของ Amundsen ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่พิชิตขั้วโลกใต้ และเมื่อเวลาผ่านไปอีก 34 วัน คณะของ Scott ได้เดินทางมาถึงและเห็นธงชาตินอร์เวย์ทปักไว้แล้ว
Amundsen และคณะเดินทางกลับไปยัง Framheim ซึ่งเป็น Basecamp และประกาศให้โลกรับรู้ถึงความสำเร็จในวันที่ 25 มกราคม 1912 ส่วน Scott เมื่อระหว่างเดินทางกลับ เขาสูญเสียเพื่อนร่วมทางไปทั้งหมด(ตาย) 5 คน เหลือเพียงเขาคนเดียวที่เดินทางกลับมาในการเดินทางครั้งนี้ น่าเศร้าแท้! เดินทางไปถึงทีหลัง แถมต้องสูญเสียเพื่อนร่วมทางอีก
“You will never change your life until you change something you do daily. The secret of your success is found in your daily routine.” – John C. Maxwell
ทั้ง 3 เรื่องนี้ ผมได้อ่านในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและได้ข้อคิดแง่คิดต่าง ๆ อะไรคือความหมายของชีวิตที่เราอยากจะตื่นเช้าขึ้นมาในทุก ๆ วัน เลยลองนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันแบบง่าย ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง จริง ๆ ก็เป็นคนที่มีจุดหมาย มีเป้าหมายนะ แต่ไม่เคยทำได้สำเร็จแบบสมบูรณ์ ลองเปลี่ยนใหม่ ทำใหม่ คิดใหม่ เมื่อตื่นขึ้นมาในทุก ๆ เช้าของวันใหม่ ทำแบบไม่มีข้ออ้าง สม่ำเสมอ ชอบงานที่ทำ คิดบวก จดจ่อ มีสมาธิ พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น อยู่กับมันตลอด ไม่ท้อ เริ่มจากเล็ก ๆ อยู่ตรงนี้ ตอนนี้ อยู่กับปัจจุบัน ก็มีความสุขแล้ว จริง ๆ ชีวิต ไม่ต้องคิดเยอะก็ได้ แต่ก็ไม่ควรไร้สาระไปวัน ๆ ตอนนี้เลิกนั่งกินเหล้าดึก ๆ 4-5 ชั่วโมงได้แล้ว และเอาเวลามาทำสมาธิ วิมังสา นั่งจดบันทึกว่าจะทำสิ่งใดในวันรุ่งขึ้น เป้าหมายก็เห็นชัดมากขึ้นจริง ๆ