พระรอด พิมพ์ใหญ่ วัดมหาวันวนาราม จังหวัดลำพูน

พระรอด พิมพ์ใหญ่ วัดมหาวันวนาราม ลำพูน พระเบญจภาคีแต่เดิมพระรอดองค์นี้ หากจำไม่ผิด ผมหยิบออกจากย่ามพระของพ่อ สมัยที่พ่อเคยบวชเป็นพระธุดงธ์ พ่อเป็นคนแพร่ครับ พ่อเลยมีพระแถวทางภาคเหนือเพียบเต็มย่ามเลยก็ว่าได้ พ่อเคยเล่าให้ฟังว่าพระในย่ามเคยมีเยอะมาก แต่เดินไปไหนก็แจกชาวบ้านไปเรื่อย ผมจำได้แค่นั้น และหลังจากที่ผมขโมยพระรอดออกจากย่ามพ่อมาแล้วผมก็เก็บสะสมติดตัวมาเรื่อย เพราะสมัยก่อนตอนเด็กๆ เป็นคนที่ชอบสะสมพระเครื่อง ในขณะที่คนอื่นๆ สะสมแสตม์ ลูกแก้ว ฯลฯ ถือว่าโชคดีมากๆ ที่ปัจจุบันผมมีพระเครื่องดีๆ ติดตัวอยู่หลายองค์

การโชว์พระเครื่องครั้งนี้ เป็น พระรอด พิมพ์ใหญ่ วัดมหาวันวนาราม จังหวัดลำพูน เหตุเพราะว่า ผมดูไม่เป็นว่าแท้ไม่แท้ จึงตัดสินใจไปเดินตามแผงพระเครื่องที่มีเซียนพระระดับประเทศอยู่ แล้วขอคำปรึกษา (แต่ไม่ได้กำพระไปให้ดู) ได้รับคำแนะนำมาว่าให้สังเกตุจากตำหนิ 10 ตามภาพที่แสดง หากครบ 9.5 ใน 10 คือแท้ ซึ่งบางตำแหน่งอาจเพี้ยนไปตามกาลเวลา และการเก็บรักษาที่ไม่ดีนัก หากครบ 10 บวกกับข้อสังเกตุอีก 18 ข้อ (ด้านล่างภาพ) ถือว่าเป็นพระสมบรูณ์ ราคาก็หลักสิบล้าน ท่านว่าอย่างนั้น...

คราวนี้ลองมาเปรียบกันดูระหว่างพระรอดพิมพ์ใหญ่ของผม ด้านบนกับพระรอด พิมพ์ใหญ่ แม่แบบ กันดูนะครับว่าตำหนิตรงกี่จุด ผมไม่ขยายความต่อนะครับ ลองดูและวิเคราะห์กัน (มี 1 จุดในภาพพระรอดของผมที่มองไม่ชัด เพราะเงาบัง คือ เส้นหู แต่องค์จริงส่องกล้องเป็นขอเบ็ดครับ)


พระรอดพิมพ์ใหญ่ มหาวันตำหนิ พระรอด พิมพ์ใหญ่ วัดมหาวันวนาราม

๑ ไข่ปลาทีปลายโพธิ์แฉก (แต่บางบล็อกไม่ปรากฎส่วนน้อย)
๒ พระเนตรด้านขวาองค์พระมีลักษณะคล้ายกับเม็ดงาดำ
๓ โพธิ์สมมุติมีลักษณะคล้ายพีรามิดหรือคมขวาน (บางพิมพ์ก็ไม่คมแล้วแต่บล็อกพิมพ์)
๔ พระกรรณด้านซ้ายองค์พระเป็นขอเบ็ด
๕ โพธิ์สมมุติมีลักษณะเป็นร่องหรือแอ่ง
๖ พระนาภีร์ เป็นเบ้าคล้ายพิมพ์ขนมครก
๗ ปากตะขาบหรือหัวงู
๘ ในฐานกระดานชั้นที่หนึ่งด้านในจะมีลักษณะเส้นแซมเล็กๆ ปรากฎ
๙ มีเส้นแซมเล็กปรากฎใต้ฐานอาสนชั้นที่หนึ่ง
๑๐ อาสนชั้นที่สามจะไม่คมชัดเท่าฐานที่หนึ่ง
๑๑ โพธิ์ขอเบ็ดด้านบนก้ามโพธิ์จะเป็นรูปขอเบ็ด กลางใบโพธิ์มักเป็นร่องด้านข้างมีคมคล้ายสมอเรือ
๑๒ มีพระอุมาโลมปรากฎที่พระนาสาฎ ในกรณีพิมพ์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะพิมพ์เทวดาชัดเจนมาก
๑๓ พระเนตรด้านซ้ายองค์พระจะมีลักษณะคล้ายน้ำตาพระเนตรไหลออกมา
๑๔ พระโอษฐ์ปากจู๋คล้ายปลากัด
๑๕ ข้อพระกรด้านซ้ายองค์พระมีลักษณะคล้ายๆ ตัวยู U หรือตัววีคว่ำ
๑๖ เส้นน้ำตกที่หนึ่งมีลักษณะคล้ายตัว วาย (y) คว่ำ
๑๗ เส้นน้ำตกใต้ฐานที่หนึ่งเป็นสามเส้นติดกัน เส้นที่สามจะหักมุมออกทางขวามือเรา
๑๘ ฐานพระ มีลักษะสองลักษณะคือฐานแบบก้นแมลงสาบ และฐานพับ

ข้อมูลเพิ่มเติมนอกจาก ตำหนิทั้ง 18 ข้อดังกล่าว ยังมีปีกย่อย เป็นส่วนประกอบ ดังนี้

๑ เนื้อพระอยู่โซนไหน หยาบมาตรฐาน/ละเอียด
๒ ความเก่า คราบกรุ ฝังลึก คราบสนิมไข แคลเซี่ยม ของแต่ละพิมพ์
๓ ตำหนิพระกร ในพระกรแต่ละข้าง เอกลักษณะของแต่ละพิมพ์
๔ การวางพระกร สง่างาม ไม่เหมือนพระถอดพิมพ์
๕ ฟอร์มของโพธิ์เป็นอย่างไร ช่องไฟต่างๆ (space)
๖ ธรรมชาติในผิวของพระรอด พิจารณาตามสิ่งแวดล้อมที่พระรอดบรรจะในหม้อ นอกหม้อ ราดำ ราน้ำตาล แร่ธาตุในดิน 16 ชนิด การกัดเซาะผิวพระรอด

สำหรับข้อมูลในการดูประกอบพิจารณาพระรอด พิมพ์ใหญ่ วัดมหาวันวนาราม จังหวัดลำพูน ก็มีเพียงเท่านี้

ส่วนองค์ พระรอด พิมพ์ใหญ่ วัดมหาวันวนาราม จังหวัดลำพูน ของผมนี้ ถึงมองว่าไม่แท้ เป็นพระเก๊ แต่อย่างไรก็ตาม ในสายตาผมแล้วถือว่าเป็นพระรอดที่สวยมากครับองค์หนึ่ง แม้จะมองว่าไม่สมบูรณ์มากเท่ากับพระส่งประกวดหรือพระแท้ที่เหล่าเซียนพระเล่นกันนั้น แต่ก็คงไว้ซึ่งความเก่า แลมีคุณค่า มีมูลค่ามากอยู่พอสมควรในตัวของมันเอง

ผมลองค้นหาเพื่อตรวจสอบราคาในเว็บพระเครื่องต่างๆ ดู ราคาพระรอด กรุมหาวันขั้นต่ำๆ ก็หลายหมื่นหลายแสนบาท หากเซียนพระท่านใดผ่านมาอ่านบล็อกของผม ก็สามารถติ-ชมกันได้นะครับ


ประวัติความเป็นมาของพระรอด พิมพ์ใหญ่ วัดมหาวันวนาราม จังหวัดลำพูน

วัดมหาวันวนาราม ตั้งอยู่ใกล้คูเมือง ด้านทิศตะวันตก ถ.จามเทวี ในเขตเมืองลำพูน วัดมหาวันวนารามสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวีครองหริภุญไชย พระนางจามเทวีนั้นเดิมอยู่ที่อาณาจักรละโว้ เมื่อฤาษีวาสุเทพสร้างหริภุญไชยขึ้น พระนางจามเทวีได้เสด็จมาปกครองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญไชย เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จมาหริภุญไชยนั้นได้พาไพร่พลที่มีความรู้สาขาต่างๆ พร้อมพระสงฆ์ ประมาณ ๕๐๐ รูปมาด้วย รวมทั้ง อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญอีก ๒ องค์ คือ พระแก้วขาว (พระเสตังคมณี) และพระศิลาดำ (พระพุทธสิกขิ) มาด้วย

เมื่อถึงหริภุญไชย พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างวัดมหาวัน เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์และนำพระศิลามาประดิษฐานไว้ด้วย (ส่วนพระแก้วขาวนั้นพระเจ้าเม็งรายแห่งล้านนาได้อัญเชิญไปเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ และประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่น ใน จ.เชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน) ต่อมาหริภุญไชยเกิดสงครามกับขุนลัวะวิลังขะ พระฤาษีจึงใช้พระศิลาดำเป็นต้นแบบสร้าง พระเครื่องแจกจ่ายชาวเมืองเพื่อใช้ออกศึก พระเครื่องส่วนที่เหลือบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาวัน ต่อมาในยุคหลัง เมื่อเจดีย์บรรจุพระปรักหักพังลง ชาวบ้านจึงพบพระเครื่องที่เก็บไว้ต่างนำกันไปบูชาและ พบกับอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ พระเครื่องเหล่านี้คือ พระรอดมหาวันที่โด่งดังนั่นเอง

พระรอดถือว่าเป็น ๑ ในพระชุด “เบญจภาคี” หมายถึง พระเครื่องชุดหนึ่งประกอบด้วยพระจำนวน ๕ องค์ โดยมี พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์ประธาน พระนางพญา กรุวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก, พระผงสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี, พระลีลา จังหวัดกำแพงเพชร และพระรอด กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน แต่เนื่องจากพระกำแพงลีลาหาได้ยากมากขึ้น จึงได้พระกำแพงซุ้มกอ จังหวัดกำแพงเพชร มาแทน ผู้ที่จัดพระชุดเบญจภาคีคือ “ตรียัมปวาย” นี้เองที่ได้จัดทำทำเนียบชุดพระเครื่อง “เบญจภาคี” ขึ้นในปี ๒๔๙๕

อย่างไรก็ตาม เมื่อแรกเริ่มยังคงเป็นเพียง “ไตรภาคี” คือมีเพียง ๓ องค์เท่านั้น อันประกอบด้วย พระสมเด็จวัดระฆัง เป็นองค์ประธาน ซ้าย-ขวา เป็นพระนางพญา (พิษณุโลก) และพระรอด (ลำพูน) หลังจากนั้นไม่นานจึงได้ผนวก “พระซุ้มกอ” (กำแพงเพชร) และ “พระผงสุพรรณ” (สุพรรณบุรี)

พระรอดกรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน มีการแบ่งแยกเป็นพิมพ์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้น ซึ่งในแต่ละพิมพ์นั้น ก็ยังอาจจะมีแม่พิมพ์หลายอัน โดยอาจจะมีส่วนผสมของเนื้อที่แตกต่างกันไปบ้าง หรืออาจจะได้รับไฟเผาในจุดอุณหภูมิที่ไม่เท่ากัน ตลอดจนถึงการกดพิมพ์ในแต่ละครั้งด้วย จึงทำให้พระรอดแต่ละองค์จึงมีลักษณะของสี ขนาด หรือรายละเอียดของพิมพ์ทรงในบางจุด ที่ดูต่างกันไป แต่จุดที่สำคัญคือต้องดูศิลป์โดยองค์รวมบวกกับความเก่าของเนื้อพระ ที่ถึงยุคสมัยทวารวดี