สวัสดีครับ…

ตั้งแต่เติบโตมาจนย่างเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเองมักชอบที่จะอยู่แบบง่ายๆ จนบางครั้งมีคนถึงกับบอกว่าชีวิตเราอะไรมันจะง่ายๆ อะไรก็ได้แบบนั้น แบบที่ผู้เขียนเป็นอยู่ เหมือนไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไม่ยินดีไม่ยินร้ายได้เพียงนั่น ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพียงแต่รู้ว่า เมื่อตัดทิ้งสิ่งที่กล่าวมาเหล่านั้นแล้ว ใจมันไม่ทุกข์ ชีวิตมันก็เบาสบาย บางคนเข้าใจผิดไปถึงว่าผู้เขียนเป็นพวกปลีกวิเวก แท้จริงแล้วผู้เขียนว่าเป็นการ รักสันโดษ มากกว่า ซึ่ง สันโดษ ไม่เท่ากับ วิเวก

มาดูความหมายของ สันโดษ ดีกว่า ว่า หมายถึง อะไร

บทความที่นำมาเผยแพร่นี้มีที่มาจาก ข่าวสดรายวัน วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ว่าด้วยความสันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

ความสันโดษ ความยินดีพอใจตามมีตามได้ตามกำลังและความจำเป็นของตน การดำรงชีวิตอยู่ของประชาชนในปัจจุบัน ถูกเหตุปัจจัยต่างๆ หลากหลายมากระทบกระทั่ง เบียดเบียนอยู่ทุกเมื่อ ซึ่งล้วนแต่ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามสมควรแก่อัตภาพที่ควรจะเป็นให้อยู่ดีมีสุขได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรที่ทุกคนจะต้องหันกลับมาทบทวนถึงแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติของตน เพื่อประคับประคองตนให้รอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง มีความอยู่ดีมีสุขตามสมควร ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรม คือ ความสันโดษ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำชาวโลกให้หาความสุขโดยการถือ สันโดษ คำว่า “สันโดษ”ความหมายของสันโดษ แปลว่าความยินดี คือความพอใจ ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยความเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และโดยชอบธรรม

ความหมายของสันโดษ คำว่า สันโดษ โดยทั่วไปมี 3 ประการ คือ

1. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามได้

2. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง

3. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร

ประการ ที่ 1 ยถาลาภสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามที่ตนได้มา คือตนได้สิ่งใดมาหรือเพียรหาสิ่งใดมาได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหนก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้มา ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้ หรือเกินไปกว่าที่ตนจะพึงได้โดยถูกต้องชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาสิ่งของที่คนอื่นได้ จนเกิดความริษยา

ประการที่ 2 ยถาพลสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามกำลัง คือ ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยของตน มีความพอใจในการจัดสรรหน้าที่การงาน จัดสรรการศึกษาศิลปวิทยา และจัดสรรคุณธรรมเพื่อปฏิบัติให้สมกับกำลังสติปัญญาของตนเอง เลือกทำในสิ่งที่ตนเองถนัดแล้วตั้งใจปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปตามกำลังแต่ละ อย่างด้วยความขยันหมั่นเพียร

ประการที่ 3 ยถาสารุปปสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามสมควร หรือยินดีตามที่เหมาะสมกับภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน ไม่นึกคิดอยากได้ทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าเกินฐานะของตนเอง บางครั้งแม้จะได้สิ่งที่เกินฐานะของตนเองมาก็ไม่ลุ่มหลงว่าเป็นสิทธิ์ที่ควร จะได้ กลับเห็นว่าสิ่งที่ได้มานั้นล้ำค่า ควรให้คนอื่นได้มีส่วนร่วมดูแลรักษาหรือบริโภคใช้สอยด้วย โดยการทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและแก่สังคมรอบข้าง

จะเห็นว่า ความสันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง เป็นการสร้างความสุขให้แก่ชีวิต การรับและการได้มาหากไม่มีสติก็อาจลุ่มหลงไปตามอำนาจของโลภะอย่างไม่มีขอบ เขต “ความรู้จักพอก่อสุขทุกสถาน” จึงเป็นคำเตือนสติให้ตนรู้จักความสุขที่แท้จริง ดังคำพูดที่ว่า คนที่รวยที่สุดคือ คนรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี และ คนที่จนที่สุดคือ คนที่ไม่รู้จักพอ ถ้าทุกคนต่างมี ความสันโดษ พอใจยินดีใช้สอยวัตถุสิ่งของต่างๆ อย่างมีสติ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรอง รับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ก็จะสามารถสร้างความอยู่ดีกินดีเป็นเหตุให้เกิดความสุขขึ้นได้

ดังนั้น ความสันโดษ ความยินดีพอใจตามมีตามได้ตามกำลังและความจำเป็นของตน พร้อมทั้งมีขยันหมั่นเพียรหาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริตไม่เป็นภัยต่อตนเองหรือ สังคม เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้วต้องรู้จักเก็บออมระมัดระวังในการใช้จ่ายไม่ก่อให้ เกิดหนี้สินก็จะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุข ความสันโดษ จึงเป็นคุณธรรมที่ทุกคนควรพินิจพิจารณา น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติให้เกิดเป็นนิสัยติดตัวโดยแท้.

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่า เราๆ จะเข้าใจคำว่า สันโดษ กันดีมากขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติกันนะครับ